เหตุผลมากมาย...ทำไมต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง?

ไลฟ์สไตล์
เหตุผลมากมาย...ทำไมต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง?

หากพูดถึงช่วงเวลาของวัยเด็ก สิ่งแรก ๆ ที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ต่างอยากให้เด็ก ๆ ตั้งใจทำคงหนีไม่พ้นการตั้งใจเรียนตั้งแต่อนุบาล เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลประกอบจาก : งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค ปี 2561 "เทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 2 (International Children's Content Rights Fair: ICCRF)"
 
สิ่งที่บางครอบครัวทำหล่นหายไปนั่นก็คือ “การอ่านนิทานให้ลูกให้หลานฟัง”
 
ใช่ค่ะ...เพียงแค่คุณหยิบหนังสือนิทานขึ้นมา เล่า อ่าน เปล่งเสียง ให้ลูกน้อยฟัง หรือหยิบหนังสือภาพมาให้เด็กดูตามก็จะเกิดผลดีมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง แถมยังไม่ต้องรอให้เด็กรู้ภาษาก็สามารถทำได้เลย เรียกได้ว่า ทำได้ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์คุณแม่กันเลยทีเดียว ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงพากันปลื้มใจเมื่อเห็นคลิปวิดีโอที่คุณพ่อคุณแม่บ้านต่าง ๆ มักจะแชร์ประสบการณ์ดี ๆ ที่มีคุณค่าต่อลูกหลานในโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง
 
'การอ่านนิทานให้ลูกฟัง' เป็นช่วงเวลาทองที่ควรค่าแก่การปลูกฝังในทุก ๆ ครอบครัว เพราะในช่วงปฐมวัยเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นช่วงที่มนุษย์เรามีความสามารถในการพัฒนาสมองและทักษะทุกด้านกว่า 80% ของชีวิต ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลดี ๆ ที่จะพาไปรู้จักและเข้าใจประโยชน์ของการอ่านนิทานว่าทำไมหลาย ๆ หน่วยงาน หรือผู้ใหญ่ในบางครอบครัวถึงให้ความสำคัญการการอ่านนิทานให้ลูกให้หลานฟังกันเป็นพิเศษค่ะ

 

 
 
 
จะได้อะไร...หากอ่านนิทานให้ลูกฟัง?
 
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้กล่าวบนเวทีเสวนาภายในงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค ปี 2561 "เทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 2 (International Children's Content Rights Fair: ICCRF)" ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นกิจกรรมที่ทุกบ้านสามารถทำได้ ขอแค่มีหนังสือนิทาน มีผู้ปกครองคอยเล่าให้ฟัง แม้จะไม่ได้อ่านสนุกหรือตลกมากก็เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมหาศาล ความจริงแล้วผู้ปกครองจะเลือกอ่านให้เด็กฟังในช่วงเวลาไหน ตอนไหนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวตนจะสนับสนุนให้อ่านนิทานก่อนนอน เพราะอยากให้ผู้ปกครองใช้เวลาส่งลูกเข้านอนหากิจกรรมทำร่วมกัน ถือเป็นเวลาคุณภาพ (Quality Time) ในช่วง 20.30 น. ไม่เกิน 21.00 น. ใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที หากเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ถือว่าใช้เวลาน้อยมาก หากทำติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลา 3 ปี จะเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งเด็กมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เฉลียวฉลาด รักการอ่าน เป็นเด็กดี เชื่อฟัง ที่สำคัญเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนหน้า และเป็นเหมือนข้อบังคับของบ้านว่าไม่ว่าผู้ปกครองจะทำงานหรือมีกิจกรรมอะไร อย่างน้อยในหนึ่งวันจะต้องส่งลูกเข้านอนและมีเวลาคุณภาพร่วมกัน
 
นพ.ประเสริฐ สรุปภาพรวมการอ่านนิทานไว้ดังนี้
 
1.การอ่านนิทานเป็นการผจญภัยไปกับพ่อแม่ : เป็นช่วงเวลาคุณภาพที่ผู้ปกครองจะจดจ่ออยู่กับการอ่านและลูก สร้างความคิดที่ว่าแม่มีอยู่จริง การอ่านนิทานก่อนนอนในช่วงเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังวินัยการตรงต่อเวลา เช่นเดียวกับการกำหนดเวลาตื่นนอน กินอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เมื่อเด็กมีความตรงต่อเวลาเหล่านี้อย่างแม่นยำก็มีแนวโน้มว่าเรื่องอื่น ๆ ก็จะทำได้ตรงเวลาเช่นกัน
 
2.การอ่านนิทานเป็นการผจญภัยไปในสมอง : ทุกครั้งที่เด็กได้ฟังนิทานหรือได้อ่านด้วยตัวเอง เซลล์ประสาทจะแตกแขนงออกมาเป็นร่างแหของเส้นประสาท ดังนั้นใน 2 ขวบปีแรก สมองของเด็กจึงเปลี่ยนแปลงทุกวัน ที่สำคัญอย่าเป็นกังวลหากเด็ก ๆ จะชอบฟังหรืออ่านนิทานเล่มเดิม เพราะถึงแม้ว่าหนังสือจะเป็นเล่มเดิม เรื่องราวเดิม แต่การคิด การตีความ หรือการวาดภาพในสมองของเด็กจะต่างกันออกไป
 
3.การอ่านนิทานเป็นการผจญภัยไปในจิตใต้สำนึก : เพราะหนังสือนิทานมีหลากหลายเรื่องราว มีทั้งด้านดี สมหวัง สนุกสนาน สดชื่น แจ่มใส และบางเรื่องก็อาจแฝงด้านมืดมาเป็นข้อคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ปกครองต้องอย่ากลัวที่จะหยิบยื่นเรื่องราวที่หลากหลาย เพราะร้อยละ 99 ของนิทานประกอบหนังสือภาพ ศิลปินนั้นสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ การที่เด็กได้ฟังหรืออ่านนิทานเหล่านี้ก็เหมือนกับการระบายความรู้สึกในใจออกมา และหนังสือเหล่านี้ยังให้แง่คิดในเรื่องของการพลัดพราก ผี ปีศาจ และความตาย ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กซึมซับและเรียนรู้
 
 
ช่วงอายุ 3-7 ปี ถือเป็นปีทองของพัฒนาการด้านภาษา...เกิดจาก?
 
1.เด็กมีแรงจูงใจในตนเองที่จะใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับบุคคลรอบข้างตลอดเวลา เพราะต้องการหาความหมาย
 
2.สมรรถภาพทางความคิดดีขึ้น ยิ่งคิดได้ ยิ่งถาม ยิ่งพูด ยิ่งเชื่อมโยงความหมายเดิมเข้ากับความหมายใหม่ ยิ่งทำให้เกิดจินตนาการ
 
3.เด็กพร้อมทำความเข้าใจเรื่องนามธรรม อย่างเรื่อง ความคิด อารมณ์ นิสัย เป็นเรื่องท้าทายให้เด็กเริ่มค้นหาความหมาย ทำให้กระตุ้นให้เด็กช่างถามมากขึ้น ช่างพูดมากขึ้น
 
4.มีสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสดีมากขึ้น ยิ่งได้ออกไปประสบกับสิ่งใหม่ ๆ ยิ่งเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย ทำให้ช่างถาม ช่างพูด
 
การอ่านกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF)
 
‘EF (Executive Function) หรือ ทักษะการพัฒนาสมองส่วนหน้า’ เป็นกระบวนการที่ใช้กำกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ อีกทั้งยังเป็นทักษะที่สำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อน การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต เรียกได้ว่า EF เป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้
 
นพ.ประเสริฐ ได้อธิบายการอ่านนิทานกับการพัฒนา EF ว่า เนื้อหาในหนังสือนิทานไม่ได้เป็นส่วนสร้าง EF ไปเสียทั้งหมด แต่เกิดจากการที่พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง หรือเกิดจากลูกสามารถอ่านได้ด้วยตัวเอง EF จะต่อยอดได้ต้องเกิดจากการใช้การอ่านเป็นสื่อกลางในการพัฒนา เช่น การถามตอบ การชื่นชมเมื่อลูกตอบถูก ให้ลูกมีส่วนร่วมในการอ่าน ลำดับเรื่องราว ชวนคิด ชวนตั้งคำถาม เป็นต้น
 
Tips : สิ่งที่ได้จากการอ่าน จาก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
 
- การอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ จะทำให้สมองรับสัญญาณจากนิ้วมือที่ข้างซ้ายคอยทำหน้าที่จับรวบเล่มหนังสือ ส่วนนิ้วมือข้างขวาจะคอยทำหน้าที่แตะกระดาษเพื่อรอเปลี่ยนหน้าถัดไป การอ่านหนังสือที่เป็น Book Print จะทำให้นิ้วมือผู้อ่านได้สัมผัสกระดาษตลอด ซึ่งตรงนี้จะทำให้สมองจับสัญญาณและจดจำได้ว่าเนื้อหาที่อ่านมาแล้วอยู่ช่วงใด อยู่บทใด หน้าใด ย่อหน้าใด
 
- หนังสือนิทาน เมื่อซื้อมาแล้วไม่ว่าจะมีราคาเท่าใด จะเกิดความคุ้มค่าในตัวก็ต่อเมื่อเด็กได้ฟังหรืออ่านในทุก ๆ วัน
 
นอกจากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง ยังรวมถึงเรื่องโภชนาการอาหารที่เหมาะสม ครบถ้วน ได้ออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต และผู้ปกครองต้องไม่ลืมที่จะสนับสนุนเพิ่มพูนทักษะความสามารถที่เด็กชอบหรือเด็กถนัดเพิ่มเติมด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก