6 เทคนิคเลี้ยงลูกให้ดี เมื่อตั้งใจมีลูกคนเดียว

ไลฟ์สไตล์
6 เทคนิคเลี้ยงลูกให้ดี เมื่อตั้งใจมีลูกคนเดียว

มาดูคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องการเลี้ยงลูกคนเดียวให้ดีที่สุดกันค่ะ

 

วิธีเลี้ยงลูก

สมัยนี้คู่แต่งงานหลายคู่พอแต่งงานแล้วก็ตัดสินใจมีลูกแค่คนเดียว เพราะอยากทุ่มเททุกอย่างให้ลูกอย่างเต็มที่ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด


มาดูคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องการเลี้ยงลูกคนเดียวให้ดีที่สุดกันค่ะ
    
1. ให้ลูกได้พบปะกับเด็กคนอื่น ๆ

เพราะไม่มีพี่น้องให้ได้เล่นด้วย จึงอาจทำให้เด็กๆ ขาดเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นในช่วงก่อนเข้าเรียน อาจจะต้องพาลูกไปรู้จักเรียนรู้เจอกับเด็กๆ ในวัยเดียวกันบ้างเพื่อให้ลูกได้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เช่น อาจจะพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น พาไปพบปะเพื่อนๆ ที่มีลูกวัยเดียวกับเรา หรือไปรวมญาติในงานเทศกาลต่างๆ แล้วเมื่อพอโตเข้าโรงเรียนก็จะทำให้เขาปรับตัวได้ดีขึ้น และไม่ต้องห่วงค่ะ เพราะว่าเขาจะมีเพื่อนๆ มากขึ้นเองตามวัย

2. สอนลูกให้รู้จักวางตัว

เด็กน้อยที่เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมีโอกาสที่จะกลายร่างเป็นจอมบงการสูง นั่นทำให้เขากลายเป็นเด็กที่พร้อมจะก้าวล่วงเข้ามาในเรื่องส่วนตัวของพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ หากนิสัยนี้ติดตัวไปในอนาคต อาจทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าคบได้ พ่อแม่จำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งให้ลูกได้รู้ว่า จุดใดที่ลูกไม่ควรก้าวเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตของคนอื่น การที่เด็กได้เรียนรู้ถึงเส้นแบ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเข้าใจว่าชีวิตของคนอื่น ๆ ก็มีเขตที่เขาต้องให้ความเคารพด้วยเช่นกัน
       
3. สอนลูกให้รับผิดชอบ

ถึงแม้จะเป็นลูกคนเดียว แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรเอาใจจนลูกทำอะไรเองไม่ได้ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมก็ควรสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเอง มอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การช่วย ความมีน้ำใจ และความรับผิดชอบ

4. ไม่จับผิดลูก      

ในบ้านที่มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก หากพ่อแม่ร่วมมือร่วมใจกันจับผิดลูก เด็กน้อยคงรู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบ ในกรณีนี้พ่อแม่ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ อย่าทำให้ลูกรู้สึกเหมือนพ่อแม่รวมหัวกันกลั่นแกล้งเขาเลย หากพ่อแม่ต้องการวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ควรทำด้วยความรักและความเข้าใจในตัวลูก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไปทำลายความมั่นใจในตัวลูกของคุณในที่สุด
       
5. สอนลูกให้ประหยัด อย่าสปอยล์ลูก

การที่พ่อแม่ซื้อของเล่นให้บ่อย ๆ ตามที่ลูกเรียกร้อง อาจทำให้ลูกน้อยที่น่ารักของคุณกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักพอ อยากได้ของเล่นใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องระวังไม่ให้ความรักความทุ่มเทของตนเองกลายเป็นการสปอยด์ลูกให้เสียคนในที่สุด
       
6. ฝึกลูกให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง

ในเมื่อลูกไม่มีพี่น้องไว้คอยช่วยเหลือในอนาคต เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบ และช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อโตขึ้น ซึ่งทำได้โดยการให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด พ่อแม่ไม่ต้องลงไปช่วยในทุกกรณี หรือจะลงไปช่วยก็ต่อเมื่อลูกขอความช่วยเหลือ



เรียบเรียงจาก more4kids.info , manager.co.th