เรื่องควรรู้ เมื่อเข้าสู่ `ผู้สูงวัย`

ไลฟ์สไตล์
เรื่องควรรู้ เมื่อเข้าสู่ `ผู้สูงวัย`

ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมดูแลร่างกายตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลจาก : คู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการสร้างเสริมสมรรถภาพของผู้สูงอายุ (ฉบับเจ้าหน้าที่และผู้ดูแล) โดย มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th 
 
‘ผู้สูงอายุ’ เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่ต่างกับช่วงวัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่น
 
วันนี้ ทีมเว็บไซต์ สสส. นำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมดูแลร่างกายตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงดูแลผู้สูงอายุที่ใกล้ชิดมาฝากค่ะ
 
1.ระบบผิวหนัง ผู้สูงอายุจะมีภาวะผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากเส้นใยอีลาสตินและเซลล์ผิวหนังลดลง ต่อมไขมันทำงานลดลงทำให้ผิวหนังมีลักษณะแห้งและเป็นขุย เซลล์ที่สร้างเม็ดสีมีการทำงานลดลงทำให้สีของผิวหนังจางลง แต่อาจพบจุดสีน้ำตาลได้ทั่วไปอันเนื่องมาจากการรวมตัวของเม็ดสีเก่าๆ และในวัยผู้สูงอายุผิวหนังจะมีอาการแพ้ได้ง่ายกว่าวัยอื่น รวมถึงเล็บมีลักษณะหนาและแข็งมากขึ้น ผมและขนต่างๆ จะจางลงและหลุดร่วงง่าย
 
2.ระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต ในช่วงวัยนี้ ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจลดลงจากการบีบตัวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง อาจมีความผิดปกติในการนำสัญญาณไฟฟ้าในกล้ามเนื้อหัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดฝอยของร่างกายเปราะบางอาจทำให้เกิดภาวะขาดเลือดได้
 
ผู้สูงวัย
 
3.ระบบทางเดินหายใจ เมื่ออายุมากขึ้น จะเกิดการแข็งตัวไม่ยืดหยุ่นของข้อต่อเล็กๆ ของซี่โครง ทำให้การขยายตัวของทรวงอกลดลง เกิดภาวะหลังค่อม บวกกับเนื้อเยื่อปอดมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้ปริมาตรการหายใจและค่าความจุปอดต่ำลง ส่งผลให้การหายใจเข้าและออกไม่สะดวกเท่าตอนอยู่ในวัยหนุ่มสาว เมื่อวงจรการตอบสนองกำจัดสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจไม่ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอาการสำลักได้
 
4.ระบบประสาท ประสาทสัมผัส และการทรงตัว สารสื่อประสาทและเซลล์ประสาททั้งระบบส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลายมีประสิทธิภาพลดลง การส่งสัญญาณประสาทช้าลง ทำให้ปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าและการเคลื่อนไหวลดลง ระบบความคิดและวิเคราะห์ที่ช้าลง อาจเกิดความจำเสื่อม ประสิทธิภาพของสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายลดลง สารสื่อประสาทที่สำคัญอาจเสื่อมสลาย นำไปสู่โรคพากินสัน (การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ) นอนหลับลึกน้อยลงจากเดิม รวมถึงอาการสายตายาวในผู้สูงอายุที่เป็นต้นเหตุของการหกล้มในผู้สูงวัย นอกจากนี้ยังมีภาวการณ์ได้ยินที่ลดลงประกอบด้วย
 
5.ระบบสืบพันธุ์ ในเพศชายอาจขับถ่ายปัสสาวะได้ลำบาก ขณะที่เพศหญิงมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง และทรวงอกสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้เกิดการหย่อนคล้อย
 
ผู้สูงวัย
 
6.ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ภาวะกล้ามเนื้อลีบจากการไม่ได้ใช้งานในผู้สูงอายุสังเกตได้จากการที่กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ความแข็งแรงและการหดตัวของกล้ามเนื้อมีความเสื่อมถอย ภาวการณ์สูญเสียสมดุลนี้ส่งผลให้เกิดอาการสั่นเมื่อต้องทำงาน มีการลดลงของกำลังกล้ามเนื้อสูงสุด และระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ โดยทั่วไปนั้นจะลดลงในอัตราร้อยละ 15-20 โดยประมาณในระหว่างช่วงอายุ 20-60 ปี มากน้อยตามแต่ว่าเคยดูแลสมรรถภาพร่างกายก่อนหน้านี้มาอย่างไร ฉะนั้นผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงควรพยายามดำรงความสามารถในการทำงานเดิมไว้ให้ได้ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังข้อต่อและกล้ามเนื้อมากๆ เช่น ยกของหนัก แบกของ และงานที่ต้องบิดเอี้ยวตัวมากๆ
 
7.ระบบทางเดินอาหาร มีโอกาสท้องผูกบ่อย กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยลดลงทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลง บางรายอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารเพราะการดูดซึมอาหารในกระเพาะอาหารบกพร่อง
 
8.ระบบปัสสาวะ ผู้สูงอายุจะถ่ายปัสสาวะบ่อย เนื่องจากหลังจากถ่ายปัสสาวะในแต่ละครั้งจะมีปริมาณปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น
 
ผู้สูงวัย
 
9.ระบบต่อมไร้ท่อ ร่างกายผู้สูงอายุสร้างฮอร์โมนชนิดต่างๆ ได้น้อยลง ข้อควรระวังคือการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้การเผาผลาญไขมันลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนได้ง่าย กระดูกหัก หรือยุบง่ายเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง
 
การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจในวัยนี้ ทำให้อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล น้อยใจ รู้สึกเหงาเนื่องจากกลัวการถูกทอดทิ้ง ไม่มั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ จากภาวะที่ร่างกายเสื่อมถอย เกิดความคิดลังเลซ้ำไปซ้ำมา รู้สึกด้อยค่าจากภาวะที่ไม่สามารถทำงานได้หรือสูญเสียบทบาทของตนเองจากที่เคยเป็นผู้นำครอบครัวเปลี่ยนมาเป็นผู้พึ่งพิงผู้อื่น ส่งผลให้ผู้สูงอายุบางท่านขอบพูดคุยกับคนอื่นๆ บางท่านมีลักษณะชอบบ่น เอาแต่ใจตนเอง หรือมีลักษณะเก็บตัวร่วมด้วย
 
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อบำรุงและซ่อมแซมร่างกาย การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและทำให้สุขภาพดี การฝึกจิตใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวาง มีความสุขกับสิ่งใกล้ตัว ก็จะเป็นการลดความเจ็บป่วยที่จะมาพร้อมกับช่วงวัยดังกล่าวนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส